"น้ำ" สำคัญกับชีวิตเราแค่ไหนและทำไมเราต้องดื่มน้ำ?

 

 

"น้ำ" หนึ่งในส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกายถึง 70% หากขาดน้ำติดต่อกันถึง 3 วัน อาจทำให้เราถึงเสียชีวิตได้ นั่นแสดงว่า น้ำมีความสำคัญกับการดำรงชีพของมนุษย์เป็นอย่างมาก ทั้งช่วยดับกระหายคลายร้อน หรือแม้กระทั่งช่วยรักษาโรค ต่อคำถามที่ว่า น้ำแบบไหนที่เราควรเลือกดื่ม ก็ควรเป็นน้ำบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งเจือปน อีกทั้งต้องดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป ทั้งนี้ เพื่อรักษาสมดุลในร่างกายให้อยู่ในสภาพปกติ ...

อากาศร้อนๆ อย่างนี้ หลายคนเป็นต้องถามหาน้ำเย็นๆ สำหรับดื่มดับกระหายคลายร้อนอยู่เป็นนิจ บางคนขอเป็นน้ำอัดลมหวานๆ เย็นๆ ปนซ่ามาเพิ่มความชื่นใจ เอ๊ะ! แล้วน้ำเปล่ากับน้ำอัดลมมีผลต่อร่างกายเหมือนหรือต่างกันอย่างไรล่ะ และเราควรจะเลือกดื่มน้ำแบบไหนเพื่อให้ร่างกายสดชื่นและได้รับประโยชน์จากน้ำอย่างเต็มที่ดีนะ 

หากเอ่ยถึง "น้ำ" แทบทุกคนจะต้องนึกถึงน้ำที่อยู่ในสถานะของเหลว เพราะไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำฝน หรือน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป ก็ล้วนแล้วแต่เป็นของเหลวทั้งสิ้น และเป็นของเหลวที่มีมากที่สุดบนโลกของเราที่มีมากถึง 70% ขณะเดียวกันก็ยังมีน้ำแข็งและไอน้ำให้เราพบเห็นเป็นปกติ

รู้จักธรรมชาติของน้ำ 

องค์ประกอบทางเคมีของน้ำประกอบด้วยธาตุไฮโดรเจน (H) 2 อะตอม และออกซิเจน (O) 1 อะตอม รวมกันเป็นน้ำ (H2O) 1 โมเลกุล และน้ำสารประกอบเพียงชนิดเดียวที่พบเห็นในธรรมชาติได้ทั้ง 3 สถานะ ทั้งของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ซึ่งในแต่ละสถานะน้ำก็จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป คุณสมบัติที่เด่นชัดของน้ำในสถานะของเหลวคือสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ตามรูปร่างของภาชนะที่บรรจุ

ส่วนคุณสมบัติที่น่ามหัศจรรย์กว่านั้น คือ "น้ำ" เป็นตัวทำละลายที่ยอดเยี่ยมมาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำทะเล แหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป น้ำใต้ดิน หรือน้ำฝน ก็มีแร่ธาตุหรือสารอื่นๆ ปะปนอยู่ในปริมาณมากน้อยต่างกันไป เช่น โซเดียมคลอไรด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น น้ำบริสุทธิ์จริงๆ ที่ปราศจากสารเจือปนจึงหาได้ยากยิ่ง 

ด้วยความบังเอิญอย่างเหมาะเจาะเหลือเกินที่ในร่างกายของเราก็มีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่ราว 70% เช่นกัน และเช่นนี้เองน้ำจึงถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนเรา รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทุกชนิดบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตในดาวดวงอื่นต้องพุ่งเป้าไปที่การค้นหาร่องรอยของน้ำเป็นอันดับแรก

ทำไมเราต้องดื่มน้ำ

นพ.ชัชวาลย์ ศรีสวัสดิ์ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกว่า ร่างกายของมนุษย์มีน้ำอยู่ประมาณ 60-70% ในแต่ละวันร่างกายต้องสูญเสียน้ำประมาณวันละ 2 ลิตร ทั้งที่ขับออกมาทางปัสสาวะ เหงื่อ หรือลมหายใจ ปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำ วัย และน้ำหนักของแต่ละบุคคล ดังนั้นเราจึงต้องดื่มน้ำเข้าไปชดเชยน้ำที่สูญเสียไปทุกวัน วันละประมาณ 2 ลิตร เช่นกัน

บางคนก็เชื่อกันว่าการดื่มน้ำมากๆ จะไม่ทำให้เป็นนิ่ว หรือช่วยละลายนิ่วขนาดเล็กในไตได้ ซึ่ง นพ.ชัชวาลย์ อธิบายว่า เป็นเพราะเมื่อดื่มน้ำเยอะ น้ำจะไปทำให้ปัสสาวะเจือจาง เกลือแร่ก็จะไม่ตกตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่ว

ดื่มน้ำให้พอดี ไม่มากไปและไม่น้อยไป

ไม่ว่าจะดื่มน้ำมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็ส่งผลต่อร่างกายได้เช่นกัน เมื่อร่างกายขาดน้ำ การทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ จะติดขัด ตัวอย่างเช่น เมื่อร่างกายขาดน้ำอาจมีส่วนทำให้เป็นโรคข้ออักเสบได้ เนื่องจากขาดน้ำที่จะไปช่วยกำจัดกรดยูริกออกมาทางปัสสาวะ และเมื่อมีกรดยูริกสะสมอยู่ในเลือดมากผิดปกติก็จะเป็นสาเหตุทำให้ข้ออักเสบ หรือเป็นโรคเก๊าต์ หรือหากร่างกายขาดน้ำติดต่อกัน 3 วัน ก็อาจทำให้เราเสียชีวิตได้ทันที

ในทางกลับกัน เมื่อร่างกายได้รับน้ำมากเกินความต้องการ จะเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ เกิดการเสียสมดุลระหว่างน้ำในเซลล์และนอกเซลล์ ทำให้มีน้ำในเลือดสูง ความเข้มข้นของเลือดลดลง ร่างกายต้องขับแร่ธาตุบางชนิดออกจากเซลล์เพื่อปรับสมดุลของน้ำ ผลที่ตามมาอีก คือ ขาดความสมดุลของแร่ธาตุชนิดนั้นแทน และเกิดความผิดปกติขึ้นในกระบวนการทำงานของเซลล์ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

แต่อย่างเพิ่งตกใจกันจนพาให้ดื่มน้ำน้อยลง รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าปริมาณน้ำมากแค่ไหนที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจึงทำให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ แต่ถ้าเราดื่มน้ำด้วยตัวเองสมองจะบอกเราเองว่าดื่มได้มากแค่ไหน และควรหยุดดื่มเมื่อไหร่ ทั้งนี้ ไม่ควรรีบดื่มเร็วจนเกินไป เพราะร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน และทำให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษได้เช่นกัน

น้ำแบบไหนควรดื่มหรือไม่ควรดื่ม

ศ.ดร.นพ.สมศักดิ์ วรคามิน กล่าวไว้ในหนังสือ "น้ำดื่มในอุดมคติ" (Water for Life) ว่า เลือดของคนเรานั้นมีค่าความเป็นกรดด่างหรือพีเอช (pH) เท่ากับ 7.4 ซึ่งถือว่าเป็นด่างอ่อนๆ หากค่าพีเอชของเลือดต่ำลงกว่านี้ จะเริ่มเกิดภาวะกรดเป็นพิษในเลือด (Acidosis) และหากต่ำกว่า 7.0 คนไข้จะหมดสติ และอาจตายได้หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

กิจกรรมของมนุษย์ก็มีส่วนทำให้เกิดกรดในร่างกายได้ง่าย เมื่อร่างกายเผาผลาญอาหารจะได้ของเสียที่มีฤทธิ์เป็นกรดและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะละลายในเลือดเพื่อที่จะขับออกมาทางปอด ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์มีผลทำให้เลือดมีความเป็นด่างน้อยลง เลือดจึงต้องการด่างเพื่อให้เกิดสมดุล ดังนั้น จึงควรดื่มน้ำและกินอาหารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง เพื่อปรับสมดุลพีเอชในเลือด

น้ำดื่มที่มีฤทธิ์เป็นด่างที่ว่านี้ก็คือ น้ำที่มีแร่ธาตุต่างๆ หรือ น้ำแร่ นั่นเอง ส่วน น้ำอัดลม นั้นมีฤทธิ์เป็นกรด บางชนิดมีค่าพีเอชต่ำเพียง 2.5 ซึ่งถือว่ามีความเป็นกรดสูงมาก หากดื่มน้ำที่มีค่าพีเอชสูงถึง 8.5 จึงจะถ่วงดุลกับน้ำอัดลม ทำให้ค่าพีเอชของเลือดกลับมาอยู่ที่ 7.4 ได้ดังปกติ

อย่างไรก็ดี หากเราเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม ความจำเป็นในการดื่มน้ำแร่ก็คงไม่มากนัก นพ.ชัชวาลย์ ศรีสวัสดิ์ แนะนำว่า การดื่มน้ำสะอาดที่ปราศจากสารพิษเจือปน และดื่มให้เพียงพอในแต่ละวัน ก็ให้แร่ธาตุกับร่างกายได้ส่วนหนึ่งแล้ว เพราะแร่ธาตุส่วนใหญ่เราก็จะได้รับจากอาหารที่เรากินเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว และน้ำดื่มสะอาดธรรมดายังหาได้ง่ายและมีราคาถูกกว่าน้ำแร่ด้วย จึงเหมาะสมที่สุดสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันของเรา

ที่มาข้อมูล myfirstbrain.com 1 ธันวาคม 2555

COPYRIGHT © 2018 Filter Vision Public Company Limited ALL RIGHT RESERVED.